การสรรหาผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อเข้าไปเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญเวทีถาวรว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง
สมัยต่อไป พ.ศ 2566 – 2569
เวทีถาวรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Permanent Forum on Indigenous Issues – UNPFII) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้ปิดประกาศให้มีการสรรหาตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจาก 7 ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเข้าไปเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองใน UNPFII ภายใน 25 มกราคม 2565
ในสมัยถัดไปทางภูมิภาคเอเซีย มีสิทธิเสนอชื่อผู้แทนได้สองคน ที่ผ่านมาทางองค์กรชนเผ่าพื้นเมืองได้จัดให้มีกระบวนการสรรหาผู้เชี่ยวชาญ โดยมอบหมายให้ทางสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) เป็นองค์กรกลางในการสรรหา ซึ่งกระบวนการได้เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยมีผู้แทนสองคนที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุด คือ
1. นาย แกม ชิมเรย์ ชนเผ่าพื้นเมืองนากา จากประเทศอินเดีย และ
2. หน่อ อี อี มิน ชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง จากประเทศเมียนมาร์
ซึ่งทางสมาคมอิมเพ็คท์ ได้จัดส่งรายชื่อทั้งสองไปให้กับทางสำนักงานเลขาธิการ UNPFII เพื่อเสนอให้ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาชาติรับรองต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.un.org/development/desa/indigenouspeoples/unpfii-sessions-2.html
ในการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ ๒๓ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ที่ประชุมได้มีมติรับรองแนวทางการดำเนินงานของ “เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น” (Local Communities and Indigenous Peoples Knowledge Sharing Platform- LCIPP) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
องค์ความรู้พื้นบ้านและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับแล้วว่ามีบทบาทและมีส่วนในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและช่วยให้ชุมชนสามารถปรับตัวและอยู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยที่ประชุมเวทีภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้มีมติให้จัดตั้ง “เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น” ขึ้นมาเพื่อ
๑) ส่งเสริมองค์ความรู้พื้นบ้านและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง
๒) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในงานของ UNFCCC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓) เพื่อผลักดันและหลอมรวมเอาองค์ความรู้พื้นบ้านและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปในนโยบายและแผนงานของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เวทีนี้มีการคุยกันหลายครั้งเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ กลไกและโครงสร้างการทำงาน เช่น เวทีครั้งที่ ๒๒ ที่กรุงมาราเกซ ประเทศโมรอคโค เสนอให้มีการจัดเวทีสนทรียเสวนาพหุภาคี (Multi-stakeholder dialogue) เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับตัวโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานของเวทีนี้ ซึ่งก่อนการจัดเวที สำนักงานเลขาฯ ได้เปิดให้มีการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเวทีนี้ในช่วงต้นปี ๒๕๖๐
หลังจากนั้นประเทศแคนาดาได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนและพูดคุยในเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมก่อนถึงเวทีการประชุมครั้งที่ ๒๓ ซึ่งมีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินงานของเวทีดังกล่าว โดยมีการจัดทำแผนงานระยะสองปี (2563-2564) และมีการสรรหาคณะทำงานเอื้ออำนวย (Facilitative Working Group – FWG) จำนวน 14 คน โดยมีสัดส่วนระหว่างผู้แทนรัฐบาลและชนเผ่าพื้นเมืองในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนงานของ LCIPP ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
ในช่วงการประชุมประเทศภาคีสมาชิกครั้งที่ 26 ที่ผ่านมา ประเทศภาคีสมาชิกได้รับรองแผนงานระยะสามปี ของ LCIPP (2565-2567) และให้มีการคัดสรรผู้แทนคณะทำงานเอื้ออำนวยชุดที่สองเข้ามาทำงานภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
ในส่วนขององค์กรชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซีย ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้แทน และกระบวนการสรรหาภายในภูมิภาค รายละเอียดทางมูลนิธิจะติดตามและเอาข้อมูลมาแจ้งให้ทราบอีกทีเร็วๆ นี้