ความเป็นมา
ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน ๑๗ กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้มีการรวมตัวกันครั้งแรกในนาม “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ คชท. ได้จัดกิจกรรมหลาย เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เช่น จัดเวทีสัมมนาวิชาการ จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในการจัดงานมหกรรมฯ พ.ศ.๒๕๕๓ คชท. ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการจัดตั้ง “สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย” ขึ้น หลังจากนั้นทางคชท. ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นจริง เช่น การจัดสัมมนาวิชาการว่าด้วยเรื่อง “จากแนวคิดสู่รูปธรรมของสภาชนเผ่าพื้นเมือง” (๙ - ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผลคือมีการจัดตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ขึ้นมามีหน้าที่ยกร่างพรบ. จนแล้วเสร็จ ร่าง พรบ.ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากเวทีสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ครั้งแรก) ในงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗
หลังจากนั้น ทาง คชท. ได้ยื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) สนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนและเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการให้มีกฎหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทางคปก.ได้ ดำเนินการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองและได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น (ปี 2558)
เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผู้แทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และภาคี ได้ยื่นหนังสือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นกลไกพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง และผลักดันให้รัฐสภาได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้เป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเร็ว แต่ไม่บรรลุผลเนื่องจากข้อจำกัดของรัฐสภาในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพิ่ม สุดท้ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ประเด็นชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ยกร่าง พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ ไม่ได้นำเอาร่าง พรบ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปพิจารณาเลย เพื่อให้ประเด็นและเจตนารมณ์ของ ร่างพรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองที่ผ่านกระบวนการยกร่าง กระบวนการปรึกษาหารือและผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ถูกนำไปพิจารณาควบคู่กับร่าง พรบ.ฉบับอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ทาง คชท. จึงต้องมีการระดมรายชื่อเพื่อร่วมกันยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของพวกเรา
หลักการและเหตุผล
(๑) เพื่อยืนยันสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยืนยันการรับรองสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองตามหลักการที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี รวมถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่รัฐไทยร่วมรับรองเมื่อปี ๒๕๕๐ถือเป็นพันธะของรัฐบาลที่จะต้องให้การส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ในประเทศของตน
(๒) เพื่อให้สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เป็นกลไกหลักในการส่งเสริม ประสานงาน และแก้ไขปัญหากลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างทั่วถึงทุกด้าน
(๓) เพื่อให้รัฐสนับสนุนกลไกการจัดกระบวนการและประสานความร่วมมือในการสร้างหลักประกันในการขจัดการเลือกปฏิบัติและอคติทางชาติพันธุ์ และสนับสนุนให้รัฐสามารถจัดทำนโยบายและแผนงานที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนของชนเผ่าพื้นเมืองในไทย
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ.....
ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... มีทั้งหมด ๔๐ มาตรา แบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่ (๑) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๒) หน้าที่และอำนาจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๓) โครงสร้างการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๔) คณะผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๕) สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๖) กองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
และ (๗) บทเฉพาะกาล (รายละเอียดดูในร่าง พรบ.ฉบับเต็ม)
๑. นิยามคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง”
ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Peoples) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันโดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่และพึ่งพาผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ มิได้เป็นกลุ่มครอบงำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม และพิจารณาตนเองว่ามีความแตกต่างไปจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนา และสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ระบบภูมิปัญญาสู่คนรุ่นอนาคต อันเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม สถาบันทางสังคม และระบบนิติธรรมของตน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม อันเป็นแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณี ยิ่งกว่านั้นยังระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่นๆ
๒. หน้าที่และอำนาจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีหน้าที่และอำนาจดังนี้ (๑) ประสานงาน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการสภา (๒) ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๓) คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (๔) ส่งเสริมและฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทำมาหากินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง (๕) ศึกษา ติดตาม และประเมินผลกระทบของนโยบายหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อจัดทำรายงานและข้อเสนอในประเด็นของชนเผ่าพื้นเมืองต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์การระหว่างประเทศ (๖) คุ้มครองและส่งเสริมอาชีพและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (๗) แสวงหาความร่วมมือในการพิทักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในระดับต่าง ๆ รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชนเผ่าพื้นเมือง (๘) สนับสนุน ส่งเสริม วิจัย พัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของแกนนำ องค์กร ชุมชน และเครือข่ายของชนเผ่าพื้นเมือง ที่เน้นการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง (๙) พัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ สภาพปัญหา และความต้องการของชนเผ่าพื้นเมืองที่นำไปใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชน (๑๐) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ และงบประมาณของสภา (๑๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสถานศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง (๑๒) แต่งตั้งคณะผู้อาวุโสสภา คณะที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่สภาเห็นชอบ (๑๓) ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับตามพระราชบัญญัติ และ (๑๔) ทำหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ สนง.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 252 ม.2 ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210