Climate Change Impact Assessment by Indigenous Community
ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ที่เปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาระบบทรัพยากรที่มีอยู่ในการดำรงชีพ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นย่อมทำให้เกิดการย้ายถิ่นของพันธุ์พืชและสัตว์ หรือ สภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอทำให้ง่ายต่อการเกิดไฟป่า และมีกระทบต่อระบบการผลิตของชาวบ้าน รวมทั้งการเก็บหาของป่าเป็นต้น
ชนเผ่าพื้นเมืองมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาในเรียนรู้และการปรับตัวกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาโดยตลอด แต่องค์ความรู้เหล่านี้กลับไม่ได้รับการส่งเสริมและยอมรับทั้งในระดับชาติและการเจรจาในเวทีระดับโลก
เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและสามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนมากขึ้น องค์กรชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศต่างๆ ได้รวมตัวกันและจัดทำโครงการประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยชุมชน ประเทศไทยเองก็เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย โดยเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนร่วมกับชุมชนที่บ้านหินเหล็กไฟ (หย่อมบ้านบริวารของห้วยมะนาว) ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยจัดให้มีทีมอาสาสมัครมาร่วมศึกษาและประเมินผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ร่วมกันกับมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ส.) โดยได้ศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพื้นบ้านว่าได้รับผลกระทบ หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และชาวบ้านเองจะมีทางออกร่วมกันอย่างไรในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว
รายงานการประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มากตรงที่ไม่สามารถครอบคลุมเนื้อหาสาระในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามทีมอาสาสมัครชุมชนและทางมูลนิธิฯ หวังว่า รายงานดังกล่าวคงจะมีประโยชน์และเป็นกำลังใจให้ชุมชนอื่นๆที่สนใจมาเรียนรู้และศึกษาปัญหาด้วยตนเองมากขึ้น
ทีมอาสาศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยชุมชนบ้านหินเหล็กไฟ
มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
ดาวโหลดเอกสาร (Download document):